เทศบาลตำบลปริก ได้ส่งโครงการเพื่อเข้าร่วมการประกวดรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2550โดยมีสาระสำคัญดังนี้
เทศบาลตำบลปริก เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงฐานะจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. 2542 มีพื้นที่โดยรวม ประมาณ 4.8 ตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมทั้งสิ้น 6,035 คน โดยแบ่งเป็นชาย 2,969 คน และหญิง 3,066 คน จำนวนครัวเรือน 1,495 ครัวเรือน ประกอบกันขึ้นเป็นชุมชนจำนวน 7 แห่ง คือ ชุมชนตลาดปริก ชุมชนทุ่งออก ชุมชนตลาดใต้ ชุมชนร้านใน ชุมชนสวนหม่อม ชุมชนปริกใต้ และชุมชนปริกตก เทศบาลตำบลปริกได้จัดทำโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมในปี 2543 เป็นต้นมา โดยเริ่มจากโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการจัดการขยะแก่ชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมฝึกอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน แก่คณะกรรมการชุมชน ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครอาสาสมัครชุมชน ทั้ง 7 ชุมชน ที่เริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของแต่ละชุมชน และจากการศึกษาก็พบว่า ชุมชนปริกตก เป็นชุมชนที่มีปริมาณ ขยะ และ เศษวัสดุเหลือใช้อยู่ในเกณฑ์ที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ของเทศบาลตำบลปริกทั้งหมด ในปลายปี พ.ศ.2543เทศบาลตำบลปริกจึงได้ประสานงานกับคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อขอความร่วมมือในการศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยประสานกับ ดร.ฉัตรชัย รัตนไชย คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.สงขลานครินทร์ในขณะนั้น เพื่อให้ และต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ได้มีนักศึกษาปริญญาโท คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เข้ามาทำวิทยานิพนธ์ โดยได้ทำการวิจัยเชิงปฎิบัติ( Action Research)ด้านการจัดการขยะในชุมชน โดยได้จัดกิจกรรมผสมผสานกันกับกิจกรรมของทางเทศบาล ที่มีอยู่เดิม เช่น การประชุมเชิงปฎิบัติการ จัดกลุ่มย่อยวิเคราะห์ปัญหา การเดินรณรงค์ เคาะประตูบ้าน การศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะของเทศบาลเมืองทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และ เทศบาลเมืองท่าข้าม จ.สุราษฎร์ธานี และการสุ่มตัวอย่างขยะภายในชุมชน ซึ่งจากการสุ่มตัวอย่างขยะที่เริ่มต้นขึ้นที่ชุมชนปริกตกอันเป็นผลจากการศึกษาวิจัยเรื่อง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนในการจัดการมูลฝอยชุมชน กรณีศึกษาเทศบาลตำบลปริก ของนางสาวปานกมล พิสิฐอรรถกุล นั้น พบว่า ปริมาณขยะ และประเภทขยะที่มีมากที่สุด ได้แก่ขยะอินทรีย์ สูงถึงร้อยละ 64.17 ของปริมาณขยะประเภทอื่น ๆ ทั้งหมด รองลงมาเป็น ขยะประเภท กระดาษ พลาสติก โลหะ แก้ว อะลูมิเนียม ร้อยละ 32.62 ส่วนที่เหลือ เป็นขยะทั่วไปอื่น ๆ ที่ปะปนกัน มีอยู่เพียงส่วนน้อยคือร้อยละ 3.21 เท่านั้น ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สอดคล้องกับกับผลการศึกษาวิจัยของ ผศ.ดร.โรจนัจฉริย์ ด่านสวัสสดิ์ และคณะ จากคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง โครงการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน กรณีศึกษาของชุมชนสวนหม่อม เทศบาลตำบลปริก พบว่า องค์ประกอบของมูลฝอยในชุมชนสวนหม่อม เทศบาลตำบลปริก มีขยะอินทรีย์สูงที่สุดถึงร้อยละ 61.6 ซึ่งสามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์เป็นปุ๋ยหมัก หรือเลี้ยงสัตว์ได้ ซึ่งหากเราสามารถแยกขยะส่วนนี้ออกทั้งหมดได้ จะทำให้ขยะมูลฝอยที่ต้องส่งไปยังหลุมฝังกลบของเทศบาล เหลือเพียง 26.6 และมูลฝอยประเภทที่สามารถขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า(ซาเล้ง)ได้ทันที มีร้อยละ 11.8 จากข้อมูลดังกล่าวเหล่านี้ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับเทศบาล ชาวบ้าน และชุมชน ที่เห็นว่า การจัดการขยะจะต้องเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่ของเทศบาลเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป ชาวบ้าน ชุมชน สามารถเข้าใจถึงปัญหา รู้จักมูลค่าของเศษวัสดุเหลือใช้ หรือ ขยะ ได้เกิดการกระตุ้นความคิดของชุมชนในด้านการจัดการขยะขยายผลส่งผ่านไปในแต่ละพื้นที่ของเทศบาลตำบลปริก และในปี 2545 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครตรวจวัดคุณภาพน้ำคลองปริกและคลองอู่ตะเภา มีสมาชิก ได้แก่ ประชาชนชุมชนปริกตก ตลาดใต้ ร้านใน ปริกใต้ สวนหม่อม และเยาวชนโรงเรียนพัฒนาศาสตร์มูลนิธิซึ่งตั้งอยู่ในเขตชุมชนตลาดใต้-บ้านกลาง และในปี 2547 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันระหว่างเทศบาลตำบลปริกกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 16 ประกอบด้วย สมาชิกชุมชนสวนหม่อม ชุมชนปริกใต้ ชุมชนตลาดปริก ชุมชนตลาดใต้-บ้านกลาง ชุมชนทุ่งออก และชุมชนร้านใน จำนวน 17 คน และมีการจัดตั้งธนาคารขยะ ในปี 2547 ที่ชุมชนตลาดใต้ โดยเริ่มต้นจากกลุ่มแกนนำในชุมชนที่เป็นผู้ใหญ่ และต่อมาได้ปรับกระบวนการทำงานที่มีครู เยาวชน และนักเรียนเป็นแกนนำ ต่อมาในปี 2548 จากกิจกรรมธนาคารขยะได้เกิดการขยายผลเกิดการกระตุ้นให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะไปสู่การทำน้ำหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยหมัก และเทศบาลตำบลปริกได้มีโรงแยกขยะรองรับเพื่อการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะอีกชั้นหนึ่ง เดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนพฤษภาคม 2549 ได้มีการจัดทำโครงการคลองสวยน้ำใส สนับสนุนโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ซึ่งเป็นโครงการตามแนวนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสรรค์สภาพชุมชนให้มีความสะอาดและสวยงาม โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานในลักษณะการส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โครงการนี้ได้คัดเลือกคลองปริก ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลปริกเป็นคลองนำร่อง สมาชิกโครงการประกอบด้วยชุมชนทุ่งออก ชุมชนตลาดใต้-บ้านกลาง ชุมชนตลาดปริก เยาวชนโรงเรียนบ้านปริก (ตลาดปริก) เยาวชนโรงเรียนพัฒนศาสตร์มูลนิธิ เยาวชนโรงเรียนบ้านปริกใต้ ชุมชนปริกใต้ ชุมชนร้านใน ชุมชนปริกตก และชุมชนสวนหม่อม จำนวน 152 คน ลักษณะกิจกรรม คือ การเฝ้าระวังและการตรวจวัดคุณภาพน้ำ โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสนับสนุนอุปกรณ์ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำ และเทศบาลตำบลปริกสนับสนุนงบประมาณในการชื้อน้ำยาสารเคมี หลังจากนั้นทุกชุมชนได้มีกิจกรรมรณรงค์ด้านการจัดการขยะสนับสนุนโดยเทศบาลตำบลปริก ผลจากกิจกรรมสามารถผลักดันจนเกิดเป็นโครงการหน้าบ้านหน้ามอง เป็นโครงการที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการช่วยกันดูแลบ้านเรือนของตนเอง ก่อให้เกิดความสะอาด ปราศจากเชื้อโรค และไม่รุกล้ำที่สาธารณะ ผลจากกิจกรรมทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนตำบลปริกให้น่าอยู่มากขึ้น มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ 3 จุด ที่ชุมชนปริกใต้และชุมชนร้านใน รวมทั้งมีการติดตั้งบ่อดักไขมัน สนับสนุนโดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2549 ได้มีการจัดทำโครงการอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลปริกสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรม 30,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นและสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพื่อสร้างเครือข่ายในชุมชน และการเข้าร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน ประกอบด้วยเยาวชนและประชาชนทั้ง 7 ชุมชน จำนวน 105 คน ลักษณะกิจกรรม ได้แก่ การจัดอบรม ณ ตลาดกลางเทศบาลตำบลปริก กิจกรรมเดินรณรงค์ 2 ชุมชน คือ ชุมชนตลาดใต้-บ้านกลาง และชุมชนสวนหม่อม และกิจกรรมทัศนศึกษาดูงาน ณ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลจากการไปศึกษาดูงานส่งผลแกนนำมีการพัฒนาการทางด้านความคิด จากโครงการปลูกผัก การจัดทำโครงการปุ๋ยหมักชีวภาพ ซึ่งแกนนำสามารถจัดกระบวนการได้จากการเข้าร่วมในกิจกรรมพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชนแบบบูรณาการ โดยนักศึกษาปริญญาโท คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปีเดียวกัน โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ร่วมกับเทศบาลตำบลปริกสนับสนุนงบประมาณ 70,000 บาท ในการจัดทำโครงการปริกเมืองน่าอยู่ ลักษณะกิจกรรม ได้แก่ ชุมชนปริกตก ก่อตั้งกลุ่มหอมเจียว ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 20 คน ชุมชนปริกตก ก่อตั้งกลุ่มเลี้ยงปลาดุก ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 10 คน ชุมชนปริกใต้ ก่อตั้งกลุ่มเลี้ยงปลาดุก ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 10 คน ชุมชนสวนหม่อม ก่อตั้งกลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 10 คน ชุมชนสวนหม่อม ก่อตั้งกลุ่มเครื่องแกง ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 6 คน ชุมชนทุ่งออก ก่อตั้งกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 10 คน ชุมชนตลาดใต้-บ้านกลาง ก่อตั้งกลุ่มธนาคารขยะ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 11 คน และชุมชนร้านในทำเรือถีบในคลองปริกเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ต่อมาในปี 2550 มีการจัดทำโครงการเยาวชนอาสาประชาเป็นสุข สนับสนุนโดยเทศบาลตำบลปริกร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (สวรส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โดยมีการจัดประชุมและติดตามประเมินผลงานทุกเดือน เทศบาลตำบลปริกเน้นกิจกรรมด้านการจัดการขยะโดยอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นกลไกในการรณรงค์ด้านสุขภาพด้านการสนับสนุนของเทศบาล ผลจากการจัดกิจกรรมด้านการจัดการขยะ ชุมชนในเขตเทศบาลปริกสามารถจัดการขยะได้ตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง กล่าวคือ 1. กิจกรรมต้นทาง คือ กิจกรรมหน้าบ้านหน้ามอง กิจกรรมการคัดแยกขยะ กิจกรรมธนาคารขยะ ซึ่งชาวบ้านสามารถคัดแยกขยะได้เอง 2. กิจกรรมกลางทาง เป็นกิจกรรมทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากขยะเปียกที่ได้ผ่านกิจกรรมคัดแยกขยะมาในต้นทาง 3. กิจกรรมปลายทางเป็นหน้าที่ของเทศบาลซึ่งทำหน้าที่ในการเก็บขน จากกิจกรรมทำให้ขยะในชุมชนลดน้อยลงจากในปี พ.ศ. 2542 - 2544 เทศบาลตำบลปริกมีปริมาณขยะที่จะต้องขนถ่ายและนำไปทิ้งประมาณ 6-7 ตัน/วัน แต่มาในปัจจุบันปี พ.ศ. 2550 เมื่อมีการจัดทำโครงการรณรงค์การคัดแยกขยะ การจัดการขยะจากต้นทาง การเข้าสู่ระบบธนาคารขยะ การทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ ทำให้ปริมาณขยะลดลงเหลือประมาณไม่เกิน 3 ตัน/วัน และประชาชนมีจิตสำนึกในการจัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พฤติกรมการทิ้งขยะก็เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น แตกต่างจากในอดีตซึ่งชาวบ้านมีแนวคิดว่าการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นภาระหน้าที่ของเทศบาล ภาพรวมปัญหาด้านการจัดกระบวนการ เช่น โครงการชุมชนเป็นสุข ลักษณะกิจกรรมคือ การจัดเวทีซึ่งสามารถทำได้เพียง 4 ครั้ง ในระยะแรกชุมชนไม่สามารถจัดกระบวนการได้เอง แต่ปัจจุบันชุมชนสามารถจัดกระบวนการเองได้ เนื่องจากมีประสบการณ์จากกระบวนการเรียนรู้ในการจัดกระบวนการ และปัญหาด้านการเฝ้าระวังและการตรวจวัดคุณภาพน้ำ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงสู่คลอง แต่เทศบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เนื่องจากโรงงานไม่อยู่ในความรับผิดชอบของเขตเทศบาล แผนงานในอนาคตจะขยายเครือข่ายชุมชนในงานด้านการจัดการขยะ เพื่อให้เป็นชุมชนที่มีเป็นขยะฐานศูนย์ ซึ่งแต่ละโครงการหรือกิจกรรมที่ทำจะมีผู้ดูแลโครงการที่ชัดเจน ได้แก่ คณะกรรมการของแต่ละชุมชน และมีแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ชุมชนตลาดใต้ มีกิจกรรมการคัดแยกขยะ ขยะเปียกนำมาทำน้ำหมักชีวภาพ และใช้หลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ในการจัดการ ความสะอาด คือ ส่วนหนึ่งของการศรัทธา และชุมชนต้องการพัฒนาโครงการจำทำปุ๋ยหมักชีวภาพ โดยชุมชนเป็นหุ้นส่วนในการผลิตปุ๋ย มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชนอื่นๆ หรือองค์กรจากภายนอก เช่น มีเวทีแลกเปลี่ยนชุมชนเป็นสุขที่ลำปำรีสอร์ท 3 ครั้ง สนับสนุนโดยโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ โครงการต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลปริก และเทศบาลได้รับรางวัลพระปกเกล้าประจำปี 2550 ด้านความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวโดยสรุป เครือข่ายชุมชนเทศบาลตำบลปริกมีเป้าหมายด้านการจัดการขยะ และการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรมจากเทศบาลตำบลปริก รวมทั้งมีการประสานงานกับองค์กรจากภายนอก หน่วยงานภายนอกที่เข้ามาให้การสนับสนุนในการจัดทำกิจกรรม ได้แก่ โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 16 และสถาบันวิจัยระบบสุขภาพ (สวรส.) ผลจากการจัดกิจกรรมทำให้ปริมาณขยะของเทศบาลปริกลดลง รวมทั้งชุมชนมีจิตสำนึกในการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนเพื่อชุมชน