บริการประชาชน
น้องบัง
13.41
น้องบัง
สวัสดีจร้าาา...วันนี้มีอะไรให้น้องช่วยฮ่ะ ถามน้องบังมาได้เลย จะรีบไปหาคำตอบให้ฮะ
13.41
ขนาดตัวอักษร
ภาษา
นวัตกรรมเด่น
ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ได้รับยาขับธาตุเหล็กแล้ว

ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ได้รับยาขับธาตุเหล็กแล้วหลังสธ.บรรจุเข้าบัญชียาหลักฯ เพื่อให้ผู้ป่วยบัตรทองเข้าถึงยาตั้งเป้าปีแรก 5 พันราย ( 6 มี.ค. 2552 )

                สธ.สปสช. อย. และอภ. บรรจุยาขับธาตุเหล็ก “ดีเฟอริโพรน” (Deferiprone) สำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมียเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว  เพื่อให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่มีประมาณ 5แสนราย ในประเทศไทย หรืออย่างน้อย 5 หมื่นราย ที่มีความจำเป็นต้องได้รับยาขับธาตุเหล็กเข้าถึงยาได้เผยปีแรกนี้ สปสช.ตั้งเป้า  5 พันรายใช้งบ 38 ล้านบาทหวังให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

                นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2552 โดยในประกาศฯ ฉบับดังกล่าว มียา Deferiprone บรรจุเพิ่มเติมอยู่ในบัญชี จ ข้อย่อย 1 สำหรับผู้ป่วยบัตรทองตาม “โครงการเพิ่มการเข้าถึงยาขับธาตุเหล็กของผู้ป่วยธาลัสซีเมียในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดยประกาศเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับในเร็ววันนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่จำเป็นต้องใช้ยาขับธาตุเหล็ก ที่มีอยู่ประมาณ 5 หมื่นราย ให้เข้าถึงยาได้ เพราะปัจจุบันผู้ป่วยมีปัญหาการใช้ยาขับธาตุเหล็ก เนื่องจากยาชนิดฉีดมีราคาแพงและวิธีการใช้ยายุ่งยาก ขณะที่ยา deferiprone เป็นยาชนิดรับประทาน ซึ่งการใช้สะดวกกว่า แต่ที่ผ่านมาเป็นยาที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งก็มีราคาแพง

                นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ผู้ป่วยราว 50,000 รายที่มีภาวะเหล็กเกินและจำเป็นต้องได้รับยาขับธาตุเหล็ก ซึ่งที่ผ่านมายาที่มีจำหน่ายในประเทศล้วนนำเข้ามาจากต่างประเทศ และมีราคาสูงจึงมีปัญหาการเข้าถึงเช่นกัน  โดยยา Deferiprone เป็นยารับประทานที่มีประสิทธิผลและปลอดภัยในการรักษาภาวะเหล็กเกินในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย สะดวกในการใช้และมีราคาถูกกว่ายาชนิดฉีด

                อย่างไรก็ตามยาชนิดรับประทานที่มีจำหน่ายยังมีราคาสูง เพราะเป็นยาที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น องค์การเภสัชกรรม จึงได้พัฒนาการผลิตยานี้ขึ้น ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบตัวยาสำคัญจนกระทั่งการผลิตยาสำเร็จรูป และได้รับทะเบียนยาในชื่อการค้าว่า GPO-L-ONE™ จาก อย. ตั้งแต่ 24 เมษายน 2551 โดยยาได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาจนได้รับการยืนยันว่าเท่าเทียมกับยาต้นแบบ และจำหน่ายในราคาที่ไม่หวังกำไร (3.50 บาทต่อเม็ด)

                ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกับองค์การเภสัชกรรมและมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียจึงได้เสนอยา deferiprone เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ตาม“โครงการเพิ่มการเข้าถึงยาขับธาตุเหล็กของผู้ป่วยธาลัสซีเมียในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”  ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ พิจารณาตามหลักฐานเชิงประจักษ์แล้วมีข้อสรุปว่า  โครงการดังกล่าวจะเพิ่มการเข้าถึงยา และมีหลักประกันประสิทธิภาพ คุณภาพและปลอดภัยของยาที่รัดกุม และมีการติดตามดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จึงได้บรรจุยาขับธาตุเหล็ก deferiprone  ไว้ในบัญชี จ ข้อย่อย 1 ซึ่งมีสามหน่วยงานข้างต้นเป็นผู้รับผิดชอบ หากโครงการประสบผลสำเร็จจะได้มีการขยายการเข้าถึงยาให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป

                นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับการจัดซื้อยาดังกล่าว สปสช.จะจ่ายเงินให้กับอภ.แล้วให้อภ.ดำเนินการจ่ายยาตรงให้กับโรงพยาบาล ด้วยวิธีการนี้จะช่วยให้คนเข้าถึงยาได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปีแรกนี้จะจัดซื้อยาให้กับผู้ป่วยใน 35 โรงพยาบาล ใช้งบประมาณ 38 ล้านบาท เฉลี่ยค่าใช้จ่าย 21 บาท ต่อคนต่อวัน หรือ 7,665 บาทต่อคนต่อปี คาดว่าจะครอบคลุมผู้ป่วย 5 พันราย และอนาคตจะขยายให้ครบผู้ป่วยทั้ง 5 หมื่นราย ซึ่งการกินยาจะต้องกินวันละ 2 มื้อ ส่วนจะทานมื้อละกี่เม็ด ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วย หากน้ำหนักมากก็จะต้องทานยาจำนวนมาก

                นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อภ.ได้ขยายกำลังการผลิตวัตถุดิบของยาดังกล่าว โดยได้ลงทุนปรุบปรุงสถานที่และติดตั้งเครื่องมือในการสังเคราะห์ใช้งบประมาณ 25 ล้านบาท อีกทั้งได้มีการสนับสนุนยาและงบประมาณจำนวน 8,485,000 บาทให้กับ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.นครปฐม และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นระยะเวลา 1ปี เพื่อประเมินประสิทธิผลและผลข้างเคียงของการใช้ยา ดีเฟอริโพรน 500 mg tablet ในขนาดเริ่มต้น 75 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน และสามารถปรับขนาดยาตามผลการตบอสนองได้สูงสุดถึง 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วันในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการกำหนดแนวทางเวชปฏิบัติของการใช้ยา คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2552

                อย่างไรก็ตาม  การผลิตยา GPO-L-ONE  ทำให้การรักษาโรคธาลัสซีเมียมีประสิทธิภาพขึ้น เนื่องจากยามีคุณภาพและราคาถูก เพียงพอกับการรักษาผู้ป่วยในประเทศ และขณะนี้ยังได้รับการติดต่อจากต่างประเทศเพื่อขอซื้อยาดังกล่าว ทั้งในรูปของยาสำเร็จรูป และวัตถุดิบในการผลิตยา หากมีการจำหน่ายในต่างประเทศก็จะมีราคาแตกต่างกับยาที่จำหน่ายภายในประเทศ สำหรับกลุ่มประเทศที่สนใจส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาโรคธาลัสซีเมีย คือ พม่า ลาว สิงค์โปร์  เป็นต้น

      นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย.ได้รับขึ้นทะเบียนตำรับยาจีพีโอ-แอล-วันทีเอ็ม (GPO-L-ONETM) โดยได้ตรวจสอบทั้งด้านคุณภาพมาตรฐาน และมีข้อมูลการศึกษาชีวสมมูลของยานี้ เทียบกับยาต้นแบบตามมาตรฐานสากล จึงมั่นใจได้ว่ายามีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่ากับยาต้นแบบ

 

------------------------------------------------- 5 มีนาคม 2552

นวัตกรรมเด่นอื่นๆ